“Self-Storage” ธุรกิจดาวรุ่ง ตู้เซฟคนกรุง…!!

 เมื่อบริบทสังคมเปลี่ยน สอดคล้องพฤติกรรมคนเมืองนิยมอยู่คอนโดมากขึ้น แจ้งเกิดธุรกิจน้องใหม่ “Self-Storage” ห้องเก็บของส่วนตัว แก้ Pain Point ข้อจำกัดพื้นที่คนเมืองกรุง ที่ทุนน้อย-ใหญ่ โดดฮุบโอกาสธุรกิจนี้ !!

          “พื้นใช้สอยมีอย่างจำกัด!!” กำลังเป็นปัญหาสำหรับคนกรุง บ่งชี้ผ่าน “คนยุคใหม่” ที่นิยมเลือกที่อยู่อาศัยที่เน้นความสะดวกสบายในการเดินทางเป็นอันดับแรก หนีปัญหารถติด ตัวเลือกดังกล่าวหนีไม่พ้น “คอนโดมิเนียมย่านใจกลางเมือง” ตามเส้นทางแนวรถไฟฟ้าหลากสาย

          ทว่าได้อย่าง-เสียอย่าง! เนื่องจากคอนโดกลางเมืองราคาแพงระยับ มักมากับข้อจำกัดของพื้นที่ใช้สอย ไม่เหลือพื้นที่ให้เก็บสิ่งของใช้สอยหรือของสะสม อาทิ รองเท้า ไวน์ เหล้า กระเป๋าแบรนด์เนม หรือแม้แต่รถหรู เป็นต้น

สถานการณ์ดังกล่าว ผลักดันให้เกิดธุรกิจน้องใหม่ เพื่อเข้ามา “แก้ปัญหา” (Pain Point) ให้กับคนเมืองกรุง นั่นคือ ธุรกิจ“บริการเช่าห้องเก็บของและทรัพย์สิน”(Self-Storage) ตัวช่วยตอบสนองความต้องการของคนเมืองที่ต้องการพื้นที่เก็บสิ่งของเพิ่มขึ้น

ธุรกิจนี้เดิมคนไทยรู้จักในวงจำกัด ปัจจุบันกำลังแพร่หลาย เห็นได้จากผู้ประกอบการไทยหลายรายโดดมาเล่นในสนามนี้ เช่น บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ หรือ JWD ร่วมทุนกับบริษัท Store It! Management จากประเทศสิงคโปร์ รุกธุรกิจ Self-Storage ในไทย โดยปัจจุบันได้เปิดให้บริการ Self-Storage แล้ว 2 สาขา

บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรที่ครอบคลุมทั่วโลก ต่อมาได้ขยายธุรกิจมาเปิด LEO Self Storage ด้วยระบบ Smart Security & Key card ที่ทันสมัยและปลอดภัยที่สุด เข้าออกได้ตลอด 24 ชั่วโมง ติดถนนพระราม 3 เป็นต้น

สอดคล้องกับ “ภักดี อนิวรรตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตอเรจ เอเชีย จำกัด หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการเช่าห้องเก็บของและทรัพย์สินระดับพรีเมียมของไทย เล่าให้กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า ในปี 2560 มีจำนวนผู้เล่นในธุรกิจ Self-Storage เพียง 5 ราย ผ่านมา 1 ปี พบว่ามีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมา “เป็น 11 ราย” ในพื้นที่ให้บริการ 15 โลเคชั่น ในกรุงเทพฯ รวมพัทยา , ภูเก็ต , อุดรธานี และหัวหิน โดยส่วนใหญ่จะให้บริการกับผู้ประกอบการต่างชาติ

เนื่องจากในต่างประเทศธุรกิจ Self-Storage เป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ของโลกที่ประชากรพักอาศัยอยู่ในคอนโดในเขตเมืองที่มีพื้นที่จำกัด และมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่เก็บสิ่งของ

อย่างในสหรัฐอเมริกา พฤติกรรมคนอเมริกัน นิยมเปลี่ยนที่อยู่ปล่อย หรือ สไตล์ไม่นิยมเก็บสิ่งของไว้ในบ้านแม้จะพอมีพื้นที่ โดยเฉพาะสิ่งของที่ไม่จำเป็น หรือนานๆนำกลับมาใช้ที ส่วนประเทศที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เป็นต้น ทำให้หันมาให้ความสนใจใช้บริการธุรกิจนี้

เขายังบอกว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรม Self-Storage เมืองไทยขยายตัวสูงอยู่ที่ 10% ขึ้นไป หรือคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 2 แสนตารางเมตร แต่คาดว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า พื้นที่เช่าอาจจะเพิ่มเป็น 4 แสนตารางเมตร (เทียบกับประชากร 10 ล้านคนในกรุงเทพมหานคร)

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สตอเรจ เอเชีย ย้อนให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจ Self-Storage เกิดจากคำแนะนำของเพื่อนที่เป็นสถาปนิกที่อยู่แวดวงอสังหาฯมองเห็นโอกาสธุรกิจนี้ ที่สำคัญในขณะนั้นเมืองไทยยังแทบไม่มีผู้ประกอบทำธุรกิจนี้

“ผมลองเข้าไปศึกษาดูว่าธุรกิจนี้มีรูปแบบเป็นยังไง ลองเข้าไปเป็นลูกค้าใช้บริการ Self-Storage ในสิงคโปร์ ว่าขั้นตอนการทำธุรกิจเป็นแบบไหน ให้บริการลูกค้าแบบใดบ้าง คิดค่าบริการยังไง วิธีการเลือกโลเคชั่นแบบไหนถึงตรงกลุ่มเป้าหมาย และสิ่งที่อยากรู้คือทำไมคนถึงเลือกมาใช้บริการ Self-Storage”

เขา บอกว่า หลังจากเข้าไปศึกษา เห็นว่าในเมืองไทยธุรกิจ Self-Storage เป็นธุรกิจเพิ่มเริ่มต้น จึงตัดสินใจนำรูปแบบธุรกิจกลับมาปรับใช้ในไทย ผ่าน “ปัจจัยบวก” ในเรื่องของจำนวนคอนโดในกรุงเทพฯที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ประกอบกับคนรุ่นใหม่ๆ นิยมการเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น

“ราคาคอนโดที่แพงขึ้นมาก ยิ่งเฉพาะในเขตเมือง หรือ ในทำลทองจำนวนพื้นที่ใช้สอยในห้องก็ต้องลดลงเหลือแค่ 20-30 ตารางเมตร (ห้อง Studio) มองว่าพื้นที่แค่นี้ไม่น่าจะพอกับกับสิ่งของจำนวนมาก ยิ่งเฉพาะหากมีครอบครัวมีลูกด้วย ธุรกิจ Self-Storage จะเป็นตัวที่ไปแก้ pain point การใช้ชีวิตให้กับคนยุคใหม่ที่นิยมอาศัยอยู่ตามคอนโดที่มีพื้นที่จำกัด”

ขณะที่อีกหนึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ “ลูกค้าต่างชาติ” ที่มาทำงานในไทย ที่อาจจำเป็นต้องย้ายสถานที่ทำงานบ่อยๆ เช่น ย้ายจากกรุงเทพฯ ไปพัทยา หรือ ย้ายจากกรุงเทพฯไปภูเก็ต ซึ่งลูกค้าดังกล่าวย่อมต้องการเก็บสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ประจำ ประกอบกับกลุ่มต่างชาติเขาเคยใช้บริการในธุรกิจ Self-Storage ในประเทศเขามาแล้ว จึงเคยชินและรู้จักธุรกิจเป็นอย่างดี โดยบริษัทกำลังโฟกัสไปยังลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้น จากสัดส่วนปัจจุบันเกิน 50% แต่ว่าคนไทยอนาคตเชื่อว่ามีโอกาสที่จะมาเป็นลูกค้ากลุ่มหลักของบริษัทได้เช่นกัน

ปัจจุบันลูกค้านิยมเก็บของ อาทิ ของใช้ส่วนตัว เฟอร์นิเจอร์ ของเล่นเด็ก ของสะสม และสินค้าออนไลน์ เป็นต้น

แม้ว่าธุรกิจ Self Storage จะเป็นสิ่งใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในไทย แต่คนยุคใหม่ส่วนใหญ่ที่นิยมอาศัยอยู่ในคอนโด , อพาร์ทเม้นต์ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องเช่าห้องเก็บของส่วนตัวไว้เพื่อลดปัญหาข้อจำกัดของพื้นที่เก็บของ ทำให้มองว่าธุรกิจนี้ยังเติบโตได้อีกมาก เขาเชื่อมั่น

สำหรับ “สตอเรจ เอเชีย” ลักษณะธุรกิจแบ่งเป็น 4 แบบ ประกอบด้วย

1.บริการห้องเก็บของส่วนบุคคล (Personal Storage) หากคุณต้องการเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยด้วยการจัดเก็บสิ่งของที่ไม่ได้ใช้บ่อยครั้ง หรือกำลังจะเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย ให้ i-Store Self Storage เป็นตัวช่วยในการจัดการจัดเก็บสิ่งของเหล่านั้น ลูกค้าสามารถเก็บสิ่งของได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมีขนาดห้องตั้งแต่ 0.5 ตร.ม. จนถึง 18 ตร.ม. ทำให้ลูกค้าเลือกขนาดห้องได้ตามความต้องการของลูกค้า

2.บริการห้องเก็บของสำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจ (Business Storage) การจัดการพื้นที่จัดเก็บของ หรือสต็อกสินค้า สำหรับอาคารสำนักงานเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและการเข้าถึงโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งเรื่องทำเล ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าถึงสินค้า ต้องเดินทางสะดวก ทำเลที่ตั้งของ i-Store Self Storage ตั้งอยู่ในศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ใกล้ BTS, MRT และ สามรารถเข้าออกได้ตลอด 24 ชม.

3.บริการห้องเก็บไวน์ (Wine Storage) ไวน์เป็นทรัพย์สินที่มีค่าและเป็นการลงทุนที่ต้องการการจัดเก็บที่เหมาะสมเพื่อให้ได้คุณค่าและคงรสชาติของไวน์ ที่ i-Store บริการเช่าพื้นที่เก็บของ เราเข้าใจถึงความสำคัญของการเก็บไวน์ที่ถูกต้อง ซึ่งห้องเก็บไวน์ของเราได้ออกแบบเพื่อให้คุณมั่นใจได้ว่าไวน์ของคุณจะถูกเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม

4.BOX STORAGE (Box Storage) i-Store Go Box Storage คือบริการรับฝากกล่องเก็บของส่วนตัว โดยลูกค้าสามารถสั่งกล่องเพื่อบรรจุสิ่งของได้ผ่านทาง www.i-storego.com โดยจะมีเจ้าหน้าที่ i-Store Man นำกล่องสีน้ำเงินส่งให้ลูกค้าถึงบ้าน และเมื่อลูกค้าบรรจุสิ่งของลงในกล่องเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ i-Store Man จะนำกล่องมาเก็บไว้ใน Store อย่างปลอดภัย โดยมีระบบรักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง

บริษัทมีสาขาและพื้นที่ให้บริการ มี 2 สาขา คือ สีลม และสุขุมวิท 24 ปัจจุบันอัตราการใช้พื้นที่เช่าของบริษัท แบ่งเป็นสีลมอยู่ที่ 60% และสุขุมวิท 24 เปิดมา 5 เดือน อัตราการเช่าพื้นที่อยู่ที่ 40% โดยลูกค้าทำสัญญาเช่าส่วนใหญ่มากกว่า 6 เดือนขึ้นไป

โดย มีอัตราค่าเช่าพื้นที่ แบ่งเป็น 1.บริการห้องเก็บของส่วนบุคคล เริ่มต้นที่ 900 บาทต่อเดือน สำหรับห้องขนาด 0.5 ตารางเมตร 2.บริการห้องเก็บของสำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจ เริ่มต้นที่ 1,500 บาทต่อเดือน สำหรับห้องขนาด 1 ตารางเมตร 3.บริการห้องเก็บไวน์ เริ่มต้นที่ 3,000 บาทต่อเดือน สำหรับห้องขนาด 1.5 ลูกบาศก์เมตร 4.BOX STORAGE 250 บาทต่อกล่องต่อเดือน

เขาบอกว่า ในแผนธุรกิจบริษัทตั้งเป้าขยายสาขาปีละ 3-4 แห่ง และขยายผ่านแฟรนไซส์ โดยเป้าหมายปี 2565 บริษัทจะมีสาขาประมาณ 20 แห่ง แบ่งเป็นสาขาที่ขยายด้วยตัวเอง 10 สาขา และแฟรนไซส์ 10 สาขา โดยสาขาที่ลงทุนเองใช้เวลา “ถึงจุดคุ้มทุน” ประมาณ 6-7 ปี ขณะที่สาขาแฟรนไซส์ใช้เวลาคืนทุนประมาณ 3-4 ปี

สำหรับภาพรวมตลาด Self-Storage ปี 2562 บริษัทประเมินว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่ดีจากการขยายตัวของภาคอสังหาฯ ขณะที่ปัจจุบันตลาดพื้นที่เช่าเก็บของในไทยมีพื้นที่รวมอยู่ที่ประมาณ 15,000 ตร.ม. และคาดว่ามูลค่าตลาดพื้นที่เช่าเก็บของในไทยอีก 5 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 400,000 ตร.ม. ในปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่ให้บริการอยู่ที่ประมาณ 2,500 ตร.ม. โดยตั้งเป้าจะมี “ส่วนแบ่งการตลาด” (มาร์เก็ตแชร์) อยู่ที่ระดับ 30%

“เราตั้งเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้า รายได้แตะ 80 ล้านบาท (ยังไม่รวมแฟรนไซส์) แต่หากรวมรายได้มีโอกาสเกิน 100 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทใช้กลยุทธ์ในการทำตลาดด้วยการเน้นการสื่อสารให้ “แบรนด์ i-Store” เป็นที่เชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภค พร้อมทั้งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความคุ้มค่าของการเลือกใช้บริการเช่าพื้นที่เก็บของที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยสูง ตามสโลแกน “ของที่คุณรักต้องฝากกับเพื่อนที่รู้ใจ” โดยบริการของบริษัทมีทั้งหมด 4 บริการ

โดย i-Store ทำตลาดโดยเน้นฐานลูกค้ากลุ่มที่อาศัยในคอนโดในเมือง กลุ่มผู้ประกอบการพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ออฟฟิศสำนักงานต่างๆ ซึ่งการเข้ามาทำตลาดในครั้งนี้เป้าหมายไม่ใช่การแข่งขันเพื่อแย่งชิงยอดขายในตลาด แต่ต้องการเป็นตัวช่วยให้คนเมืองได้มีพื้นที่ใช้สอยภายในที่พักอาศัยมากขึ้น ด้วยการเดินทางที่สะดวกใกล้รถไฟฟ้า BTS มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีคุณภาพ มีสภาพแวดล้อมของสถานที่มีระบบความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ มีระบบป้องกันเพลิงไหม้ มีคีย์การ์ด เข้า-ออกอาคาร และใช้สแกนขึ้นลิฟต์ไปในชั้นของตัวเองได้เท่านั้น พร้อมควบคุมระบบแสงไฟ พัดลมระบายอากาศและเซ็นเซอร์ระบบไฟส่องสว่าง ผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาเอาของได้ตลอด 24 ชั่วโมง ได้ทุกวัน เพียงแค่มีคีย์การ์ดเพียงใบเดียว

สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจบริษัทต้องการตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยการขยายสาขาในทำเลอื่นๆ ให้รองรับกับความต้องการของผู้พักอาศัยและธุรกิจทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น ชลบุรี พัทยา ภูเก็ต เป็นต้น

รวมทั้งทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่าเมื่อมาใช้บริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพ สร้างคุณภาพในการให้บริการ และคำนึงถึงความสะดวกสบายของลูกค้า มุ่งเน้นความปลอดภัยในทรัพย์สินของลูกค้า ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าสามารถไว้ใจที่จะฝากของไว้กับบริษัท สร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ บริษัท รับขนส่ง ย้ายบ้าน เป็นต้น

นอกจากนี้ จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ ที่มีคุณภาพ และแตกต่างกว่าคู่แข่ง เช่น ทำเลที่ตั้ง ระบบรักษาความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในอาคาร นำเสนอการบริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง ในด้านการให้บริการ Storage อย่างครบวงจร และมีบริการเสริมต่างๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย

——————-

ผนึกดีเวลลอปเปอร์ รุกตลาดอสังหาฯ

“ภักดี อนิวรรตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท สตอเรจ เอเชีย จำกัด เล่าว่า ปัจจุบันยังขยายฐานผู้ใช้บริการโดยร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดย i-Store ได้ร่วมมือกับ บมจ.แสนสิริ หรือ SIRI ในการยกระดับประสบการณ์การใช้ชีวิตเพื่อลูกบ้านแสนสิริให้สะดวกสบายขึ้นอีก

โดยสามารถเลือกใช้บริการของ i-Store ผ่าน Application HOME SERVICE 2.0 บน ฟีเจอร์ SANSIRI MOVE-IN EXPERIENCE ในกลุ่ม MOVING บริการให้เช่าห้องเก็บของ (Self-Storage) และ กลุ่ม EASY LIVING บริการให้เช่าห้องเก็บไวน์ (Wine Storage) พร้อมมอบข้อเสนอพิเศษที่เหนือกว่าให้กับลูกบ้านแสนสิริโดยเฉพาะ คาดว่าแคมเปญนี้จะได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกบ้านของแสนสิริ ที่ i-Store จะเป็นตัวช่วยให้ลูกบ้านมีพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน หรือคอนโดมิเนียมเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายธุรกิจผ่านระบบแฟรนไชส์เพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดรูปแบบและรายละเอียดในการลงทุน คาดว่าจะเริ่มเปิดขายแฟรนไชส์ได้ภายในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้เริ่มให้ข้อมูลกับผู้สนใจแล้วหลายราย โดยกลุ่มผู้สนใจมีทั้งที่มีความคุ้นเคยในธุรกิจพื้นที่เช่าอาคารสำนักงาน รวมถึงมีแหล่งเงินทุนพร้อมอยู่แล้ว และกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่มีประสบการณ์ แต่มี Asset และต้องการร่วมธุรกิจผ่านระบบแฟรนไชส์

อีกทั้งบริษัทวางแผนเตรียมจะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผ่าน LiVE platform ในการระดมทุนในรูปแบบ Crowdfunding และการซื้อขายหลักทรัพย์ในรูปแบบเจรจาต่อรอง (Over The Counter: OTC) ซึ่งเป็นการซื้อขายที่เรียกว่าระบบนอกตลาด โดยเป็นการตกลงกันเองระหว่างผู้ลงทุนโดยชำระราคา และส่งมอบกันนอกระบบตลาด ทั้งนี้คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในภายในปีนี้

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : กรุงเทพธุรกิจ

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/821385